วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2557

คอลิด มัชอัล - ผู้บัญชาการแห่งหะมาส



คอลิด มัชอัล (ฉายาว่า อบุล วะลีด) ผู้นำทางการเมืองของกลุ่มหะมาสที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน มีตำแหน่งทางการเป็นหัวหนัาสำนักงานการเมือง (อัล-มักตับ อัสสิยาสียฺ) ของกลุ่มหะมาส สืบสานจากผู้นำคนก่อนคืออับดุลอะซีซ อัรฺร็อนตีซียฺ ที่ถูกลอบสังหารไปในปี 2004

คอลิด มัชอัล เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ปี 1956 ที่เมืองสิลวาด ใกล้กับเมืองรอมัลลอฮฺ ในเขต West Bank ปาเลสไตน์ ในปี 1967 ระหว่างที่เขากำลังศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษาก็ได้เกิดสงครามหกวันขึ้น ทำให้เขาและครอบครัวต้องอพยพลี้ภัยไปยังประเทศคูเวต

คอลิด มัชอัล ได้ศึกษาต่อและสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาที่ประเทศคูเวต หลังจากนั้นก็เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยคูเวต ช่วงนี้เองที่เป็นจุดพลิกผันที่สำคัญมากสำหรับชีวิตของเขา นั่นคือการเข้าไปมีบทบาททำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย เขาเริ่มต้นเป็นประธานชมรมกออิมะฮฺ อัล-ฮักกฺ อัล-อิสลามียะฮฺ qa’imat al-haq al-islamiyya (ในภาษาอังกฤษแปลเอาความว่า Islamic Justice หรือ สิทธิอันเที่ยงธรรมแห่งอิสลาม)

ในปี 1977 ชมรมกออิมะฮฺ อัล-ฮักกฺ อัล-อิสลามียะฮฺ ก็ได้ลงสมัครเลือกตั้งเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมกับสหภาพนักศึกษาปาเลสไตน์ [ the General Union of Palestinian Students (GUPS) ] องค์กรนี้เป็นองค์กรนักศึกษาของชาวปาเลสไตน์ในระดับนานาชาติที่มีกิจกรรมมายาวนาน บุคคลสำคัญทางการเมืองของปาเลสไตน์มักผ่านสหภาพนักศึกษาแห่งนี้แม้แต่นายยัซเซอร์ อาราฟัต จึงไม่แปลกที่ขณะนั้นสหภาพถูกบริหารงานโดยกลุ่มนักศึกษาที่นิยมแนวทาง PLO ของยัซเซอร์ อาราฟัต ขณะที่ชมรมกออิมะฮฺ อัล-ฮักกฺ อัล-อิสมียะฮฺ ของคอลิด มัชอัล มีรายชื่ออยู่ในสังกัดของขบวนการอิสลามของปาเลสไตน์ที่ถือว่าเป็นสาขาของภราดรภาพมุสลิมอีกด้วย เป็นที่มาของการแข่งขันระหว่างนักศึกษาสายอิสลามของมิชอัลกับกลุ่มชาตินิยมของ PLO



ต่อมาทางสหภาพนักศึกษาปาเลสไตน์ (GUPS) ได้ยกเลิกการเลือกตั้ง มัชอัลจึงตัดสินใจก่อตั้งองค์กรนักศึกษาปาเลสไสต์สายอิสลามที่ทรงอิทธิพลขึ้นในปี 1980 นั่นคือ สันนิบาตอิสลามเพื่อนักศึกษาปาเลสไตน์ (al-rabita al-islamiyya li talabat filastin) ในทศวรรษ 80 ถือกันว่าเป็นทศวรรษที่กระแสการตื่นตัวอิสลามในมหาวิทยาลัยคูเวตเข้มข้นเป็นอย่างมาก

คอลิด มัชอัลทำงานเป็นครูในคูเวต ระหว่างปี 1978 - 1984 แต่งงานในปี 1980 มีลูกสาว 3 คน และลูกชาย 4 คน

ช่วงเวลาที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งของคอลิด มัชอัล คือการก้าวเข้าสู่ขบวนการอิสลามกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ในปี 1983 ทางขบวนการอิสลามได้เปิดการประชุมภายในขึ้นในประเทศอาหรับแห่งหนึ่ง ซึ่งมีตัวแทนจากฉนวนกาซา ร่วมกับผู้อพยพชาวปาเลสไตน์จากประเทศต่าง ๆ คอลิด มิชอัลเป็นผู้นำคนหนึ่งที่เข้าร่วม และการประชุมนี้ได้วางรากฐานที่สำคัญในการก่อเกิดขบวนการหะมาส โดยตัวของคอลิด มิชอัลเองได้อุทิศตนเต็มเวลาเพื่อภารกิจนี้ที่ได้เริ่มขึ้นในปีต่อมา

เมื่อเกิดสงครามอ่าวขึ้นในปี 1991 เขาได้ย้ายไปอยู่จอร์แดน และทำงานกับหะมาสโดยตรงในสำนักงานการเมือง และก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำสำนักงานในปี 1996

ขณะที่อาศัยอยู่ในจอร์แดนได้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ชื่อของคอลิด มัชอัลเป็นที่่รู้จักของนานาชาติ นั่นคือในวันที่ 25 เดือน กันยายน ปี 1997 เขาตกเป็นเป้าหมายการลอบสังหารของหน่วยมอสสาดอิสราเอล ขณะนั้นอิสราเอลอยู่ภายใต้บริหารของนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ... หน่วยมอสสาด 10 คน ได้เข้ามาในประเทศจอร์แดนโดยถือพาสปอร์ตแคนาดา และพ่นสารพิษใส่ตัวคอลิด มิชอัล

อย่างไรก็ตามทางเจ้าหน้าที่จอร์แดนก็เข้าจับกุมหน่วยมอสสาดได้ 2 คน กษัตริย์ฮุเซ็นของจอร์แดนได้เรียกร้องให้เนทันยาฮู ส่งมอบยาถอนพิษ ตอนแรกเนทันยาฮูปฏิเสธ ทางบิล คลินตัน ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น จึงเข้ามาไกล่เกลี่ยและขอร้องให้เนทันยาฮูส่งมอบยาถอนพิษในเวลาต่อมา

เหตุการณ์ครั้งนี้ได้มีการเจรจาแลกเปลี่ยนบุคคลสำคัญของหะมาส โดยเจ้าหน้าที่รัฐจอร์แดนได้ปล่อยตัวหน่วยมอสสาด 2 คน เพื่อแลกกับการปล่อยตัวชัยคฺ อะหฺมัด ยาสีน ผู้นำด้านจิตวิญญาณและผู้ก่อตั้งหะมาส ซึ่งถูกพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตในอิสราเอลขณะนั้น

ในปี 1999 หะมาสกลายเป็นองค์กรต้องห้ามในจอร์แดน เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าทำกิจกรรมที่ผิดกฎหมายในประเทศ คอลิด มัชอัลถูกจับกุมและเนรเทศออกนอกประเทศ เขาจึงไปตั้งถิ่นฐานที่ประเทศกาตาร์ กระทั่งปี 2001 ก็ย้ายไปดามัสกัส ประเทศซีเรีย

ในปี 2012 ได้เกิดสงครามกลางเมืองในซีเรีย คอลิด มัชอัลและหะมาสสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน ทำให้เขาต้องปิดสำนักงานการเมือง และย้ายกลับไปยังประเทศกาตาร์ในปัจจุบัน

หะมาสได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งของชาวปาเลสไตน์ในเขตฉนวนกาซา ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ทางสหประชาชาติจัดขึ้น เมื่อวันที่ 29 มกราคม ปี 2006 คอลิด มัชอัลยืนยันว่าหะมาสไม่มีแผนที่จะปลดอาวุธ "หะมาสพร้อมที่รวบรวมอาวุธจากกลุ่มต่าง ๆ ของปาเลสไตน์ ด้วยจิตสำนึกของชาวปาเลสไตน์ และสร้างกองทัพเหมือนกับรัฐอิสระอื่น ๆ กองทัพนั้นจะคุ้มครองประชาชนของเราและต่อต้านการรุกราน"

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้นในเขตฉนวนกาซาทุกครั้ง คอลิด มัชอัลได้ยกระดับการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ขึ้นมาเป็นกระแสสากลยิ่งกว่ายุคใด ๆ เป็นที่สนใจและติดตามของผู้คนทั่วทั้งโลก

ในปี 2010 วารสารของประเทศอังกฤษ New Statesman ได้จัดลำดับให้คอลิด มัชอัลเป็นผู้มีอิทธิพลอันดับที่ 18 ของโลก

ท่ามกลางการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยอัล-กุดส์มาตลอดชีวิต ชีวิตของคอลิด มัชอัล อีกด้านหนึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะคนที่จัดเวลาสำหรับการศึกษาอัลกุรอาน โดยเฉพาะการท่องจำ ทุกที่ที่เขาเดินทางอพยพไป เขาได้สละเวลาศึกษาและท่องจำอัลกุรอานกับชัยคฺต่าง ๆ อยู่เสมอ ช่วงที่อยู่คูเวตเขาได้ศึกษากับชัยคฺมุฮัมมัด อับดุรฺเราะหฺมาน เขาสามารถท่องสูเราะฮฺบะเกาะเราะฮฺจบในสองสัปดาห์และตามด้วยท่องจำสูเราะฮฺอาละอิมรอนในสิบวัน ขณะที่อยู่ซีเรียเขาได้ท่องจำอัลกุรอานกับชัยคฺอับดุลฮาดียฺ อัฏฏ็อบบาอฺ จนได้รับอิญาซะฮฺ (ใบอนุญาตการรับรองทางการศึกษาและสอนต่อแบบคลาสสิก) ในความรู้อัลกุรอาน

...........................................
Ummah Islam เรียบเรียง


...........................................